ภายหลังพายุโซนร้าน "ซีต้า” ที่ก่อนตัวขึ้นระหว่างวันที่ ๒๐ – ๒๗ สิงหาคม ๒๕๔๐ พัดผ่านพื้นที่จังหวัดชุมพร สร้างความเสียหายเป็นอย่างมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสให้เร่งขุดคลองหัววัง – พนังตักให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม ๒๕๔๐
คลองหัววัง – พนังตักเป็นคลองที่ขุดขึ้นเพื่อช่วยระบายน้ำจากคลองงท่าตะเภาที่บ้านหัววัง หมู่ ๙ ตำบลบางลึก อำเภอเมืองชุมพร คลองมีวามยาว ๘,๑๐๐ เมตร มีขนาดก้นคลองกว้าง ๕๐ เมตร โดยกรมชลประทานเป็นผู้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๖ แต่ยังไม่เสร็จ คงเหลืออีก ๑,๔๖๐ เมตร ผู้อำนวยการกองงานส่วนพระองค์ซึ่งมาตรวจพื้นที่ได้ถ่ายภาพและวีดิทัศน์ถวายรายงาน พระองค์ท่านมีพระราชกระแสรับสั่งผ่านผู้อำนวยการกองงานส่วนพระองค์ มห้ ดร. สุรพล กาญจนะจิตรา ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพรขณะนั้น เร่งรัดให้ขุดลอกคลองส่วนที่เหลือแล้วเสร็จใน ๓๐ วัน โดยพระราชทานพระราชทรัพย์จำนวน ๑๘ ล้านบาทผ่านมูลนิธิชัยพัฒนาให้กรมชลประทานยืมไปดำเนินการนี้ ทั้งมีพระราชการะแสรับสั่งให้ขุดคลองนี้มห้ทะลุในคืนวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ ก่อนพายุไต้ฝุ่น "ลินดา” จะเข้าสู่จังหวัดชุมพร เป็นผลให้พสกนิกรชาวชุมพรรอดพ้นจากอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นจากอิทธิพลของพายุไต้ฝุ่นนี้
นอกจากนี้พระองค์ยังมีพระราชดำรัสเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐ เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาอุทกภัยของจังหวัดชุมพร
"เมื่อดูแผนที่ ก็เห็นว่ามีที่แห่งหนึ่งที่ควรจะทำให้เป็นแก้มลิงได้ มีโดยธรรมชาติ คือมีหนองใหญ่ หนองใหญ่นั้นเป็นที่กว้างใหญ่สมชื่อ แต่ก็ไม่ใหญ่พอ เพราะมีการบุกรุกเข้าไปและตื้นเขิน”
คร.สุพล กาญจนะจิตรา จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นวางแผนพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ให้เป็นแก้มลิงธรรมชาติที่สมบูรณ์เพื่อถวายเป็นราชสักการะในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระชนมายุครบ ๗๑พรรษา ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๑ โดยมีผู้อำนวยการกองงานส่วนพระองค์เป็นที่ปรึกษา
หนองใหญ่อยู่ในเขตตำบลบางลึก อำเภอเมืองชุมพร มีพื้นที่ประมาณ ๓,๐๐๐ ไร่ ในฤดูน้ำหลากสามารถกักเก็บน้ำได้ประมาณ ๓ ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่ด้านทิศเหนือติดต่อกับคลองหัววัง – พนักตัก สามารถรับน้ำจากคลองต่างๆ ได้แก่ คลองละมุ คลองขี้นาค และครองกรูด ซึ่งอยู่รอบหนองใหญ่ได้ พื้นที่หนองใหญ่เป็นที่สาธารณะ ปัจจุบันมีราษฎรบุกรุกเข้าไปทำกินเกือบเต็มพื้นที่ บางส่วนได้ออกเอกสารสิทธิไปแล้ว บางส่วนก็ออกเป็นหนังสือสำหรับที่หลวง (นสล.)
แม้หนองใหญ่จะรองรับน้ำที่ไหลบ่ามาตามธรรมชาติได้ แต่ไม่สามารถบรรเทาอุทกภัยได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำริให้จัดทำโครงการพัฒนา ในพื้นที่ประมาณ ๖๐๐ ไร่ โดยจัดสร้างประตูระบายน้ำบนคันคลองหัววัง - พนังตักช่วงที่ติดต่อกับหนองใหญ่สามแห่ง และพระราชทานนามว่าประตูระบายน้ำราชประชานุเคราะห์ ๑, ๒ และ ๓ เพื่อควบคุมการระบายน้ำระหว่างหนองใหญ่กับคลองหัววัง - พนังตัก |