ระนอง เพิ่งจะเป็นภูมิฐานบ้านเมืองขึ้นมาเมื่อ ๑๐๐ กว่าปีก่อนนี้เอง
ไม่มีโบราณสถานหรือโบราณวัตถุที่สำคัญในทางประวัติศาสตร์โบราณคดีให้ศึกษา
แต่กระนั้นระนองยังมีสิ่งสำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับโบราณราชประเพณีอยู่อย่าง
หนึ่ง ซึ่งเป็นที่น่าสนใจและน่าภาคภูมิใจสำหรับชาวระนองทั้งปวง
สิ่งนั้นก็คือพระแสงราชศัสตรา อันเป็นสิ่งที่หาได้มีอยู่ทุกเมืองไม่
ส่วนมากมักจะมีอยู่ก็แต่เมืองสำคัญ ๆ มาแต่โบราณ
หรือเป็นเมืองที่องค์พระมหากษัตริย์เคยเสด็จประทับมาแล้วแต่กาลก่อนเท่านั้น

พระแสงราชศัสตรานั้น ถือว่าเป็นสัญลักษณ์แทนพระองค์
แทนพระราชอำนาจซึ่งโบราณเรียกว่าพระแสงอาญาสิทธิ์
เมื่อพระราชทานแก่ผู้ใดก็เท่ากับได้พระราชทานอำนาจแห่งพระองค์ให้แก่ผู้นั้น
ในอันที่จะกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดได้โดยพระราชอำนาจนั้น
เมื่อองค์พระมหากษัตริย์เสด็จไปยังเมืองนั้น ๆ
จึงต้องถวายพระราชอำนาจคืนพระองค์ตามโบราณราชประเพณี
ต่อเมื่อพระองค์เสด็จกลับ
ก็จะได้พระราชทานพระแสงราชศัสตราให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเก็บรักษาไว้ตามเดิม
ต่อไป
เมืองระนองได้รับพระราชทานพระแสงราชศัสตราในคาวที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎ
เกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเลียบหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตก เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๐
ลักษณะขององค์พระแสงเป็นเหล็กกล้า ด้ามและฝักหุ้มทองคำจำหลักลาย เนื้อทอง
๙๐% โดยประมาณ เลขหมายประจำพระแสง ๒๘/๕๖ จารึกในเนื้อเหล็กว่า "ระนอง"
ทั้งสองด้าน ด้ามทองฝักทองยาว ๑๐๔ ซ.ม. ด้ามยาว ๓๒ ซ.ม. ฝักยาว ๗๒ ซ.ม.
ใบยาว ๖๔.๖ ซ.ม. ใบกว้าง ๒.๕ ซ.ม. น้ำหนักรวมทั้งสิ้นรวม ๙๔๐ กรัม
หลังจากครั้งนั้นแล้ว ระนองได้เคยมีพิธีถวายพรแสงราชศัสตราต่อมาอีก ๒ ครั้ง
คือ
๑.ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
เสด็จเลียบหัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันตกเมื่อ ๒๙ มกราคม ๒๔๗๑
โดยพระยาอมรศักดิ์ประสิทธิ์ (ทนง บุนนาค) ผู้ว่าราชการจังหวัด ทูลเกล้าฯ
ถวาย
๒.ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
เสด็จเยี่ยมราษฎรภาคใต้เมื่อ ๗ มีนาคม ๒๕๐๒ โดยนายพันธุ สายตระกูล
ผู้ว่าราชการจังหวัด ทูลเกล้าฯ ถวาย

คำกราบบังคมทูลของผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง วันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๐๗
ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม
ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสกราบบังคมทูลพระกรุณานำข้าราชการ
พนักงานเทศบาล พร้อมด้วยภริยา คหบดี พ่อค้าและประชาชนราษฎรในจังหวัดระนอง
เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทและขอพระราชทานกราบบังคมทูลในนามของประชาชนชาวระนอง
ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทว่าข้าพระพุทธเจ้าชาวระนอง
มีความปลาบปลื้มยินดีเป็นที่ยิ่ง เมื่อได้ทราบว่าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท
พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนารถ
จะเสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานพระมหากรุณาให้ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ได้เฝ้ากราบถวายบังคมชมพระบารมีจนถึงจังหวัดระนองนี้
ข้าพระพุทธเจ้าได้เฝ้า รอคอยวันอันเป็นมหามงคลนี้มาเป็นเวลาช้านานแล้ว
เมื่อได้ทราบว่าเป็นที่แน่นอนว่าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทจะเสด็จพระราชดำเนิน
มาเป็นการแน่นอนแล้ว ก็บังเกิดความชื่นชมโสมนัสปลาบปลื้มปีติยินดี
ช่วยกันจัดเตรียมงานรับเสด็จฯ
สนองพระมหากรุณาธิคุณจนเต็มความสามารถและความปีตินี้ยิ่งทวีคูณขึ้นเมื่อใต้
ฝ่าละอองธุลีพระบาทพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณประทับแรมในจังหวัดนี้ ๑
ราตรี ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายเห็นด้วยเกล้าฯ
ว่าเป็นศิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลแก่จังหวัดนี้
และเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นเกล้าล้นกระหม่อมแก่ประชาราษฎร์ชาวระนองที่
จะได้รับพระราชทานพระบรมราชวโรกาสเฝ้าถวายบังคมใต้เบื้องยุคลบาท
และถวายความจงรักภักดีโดยทั่วถึงกัน
จังหวัดระนองนี้มีฐานะ เป็นเมืองมาตั้งแต่โบราณกาล
นับแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีเป็นต้นมา
เจ้าเมืองมีบรรดาศักดิ์เป็นหลวง เรียกตามนามเมืองว่าลวงระนอง
ในสมัยโบราณนั้นจังหวัดระนองแยกท้องถิ่นออกเป็น ๒
เมืองคือเมืองระนองและเมืองตระ เพิ่งจะมารวมเป็นจังหวัดระนองเมื่อราว ๖๐
ปีนี้ สมเด็จพระมหากษัตราธิราชองค์ก่อน ๆ
คือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ก็ได้ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินมาประทับแรม ณ จังหวัดนี้แล้วดุจเดียวกัน
จังหวัดระนองแบ่งการ ปกครองออกเป็น ๒ อำเภอ กับ ๒ กิ่งอำเภอ
มีจำนวนพลเมือง ๓๒,๑๗๐ คน เป็นชาย ๑๖,๘๖๖ คน หญิง ๑๕,๓๐๔ คน
นับว่าเป็นจังหวัดที่มีพลเมืองน้อยที่สุดในราชอาณาจักรไทย เนื้อที่ประมาณ
๓,๔๑๗ ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่ราบ ๑,๔๑๙ ตารางกิโลเมตร นอกนั้นเป็นภูเขา
การอาชีพที่สำคัญของจังหวัดนี้คือ การทำเหมืองแร่ การทำสวนผลไม้ การประมง
การทำไร่ การทำป่าไม้และของป่า
แร่สำคัญที่ส่งออกเป็นสินค้าออกคือแร่ดีบุกและวุลแฟรม
ผลไม้ที่ปลูกกันมากมีเงาะ มังคุด ทุเรียน เนื่องแต่เดิมการคมนาคมไม่สะดวก
จึงมิค่อยจะได้นำไปขายในต่างจังหวัด รายได้จากกการอุตสาหกรรมและอาชีพต่าง ๆ
ของจังหวัดนี้ ประมาณปีละ ๑๒ ถึง ๒๓ ล้านบาท
ประชาชนพลเมืองมีศีลธรรมและวัฒนธรรมเป็นอย่างดี
ขยันขันแข็งในการประกอบกิจการงาน ต่างอยู่กันด้วยความสงบสุข
ไม่เบียดเบียนซึ่งกันละกันตลอดจนชาวต่างประเทศที่ได้เข้ามาพึ่งพระบรม
โพธิสมภารก็ได้รับความผาสุขทุกถ้วนหน้า
ทั้งนี้ก็ด้วยพระเมตตาบารมีแห่งพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์
ทรงปกป้องมาจนถึงรัชสมัยของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ
ในอภิลักขิตสมัยมหามงคล กาลนี้
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสถวายความจงรักภักดีและ
กราบถวายพระพรชัยมงคล ขอให้ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทและสมเด็จพระนางเจ้าฯ
พระบรมราชินีนารถทรงพระเจริญ ชนมายุยิ่งยืนนาน
ขอให้ทรงพระเกษมสำราญสุขสวัสดิ์ในศิริราชสมบัติวัฒนา
รุ่งเรืองพระเกียรติคุณวิบูลยเดชาเป็นที่พึ่งอันล้นเกล้าแก่ประชาชนชาวไทย
ตลอดกาลนาน ขออำนาจแห่งคุณพระศรีรัตนตรัยอันเป็นนิรัติศัยบุญญเขตวิเศษล้ำ
จงบันดาลให้คำที่ข้าพระพุทธเจ้าได้กราบบังคมทูลถวายพระพรชัยมงคลนี้สัมฤทธิ
ผลเป็นจริงทุกประการ ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะฯ

ประวัติพระแสงราชศัสตราประจำเมือง
ลักษณะ
การปกครองของไทยในสมัยโบราณนอกจากพระมหากษัตริย์จะทรงดำรงฐานะเป็นผู้นำใน
การปกครองประเทศแล้วในยามที่บ้านเมืองเกิดศึกสงครามยังทรงดำรงตำแหน่งผู้นำ
ทางการทหารในฐานะเป็นจอมทัพผู้เข้มแข็งกล้าหาญอีกด้วยคำว่า
"พระมหากษัตริย์" จึงหมายความถึง "นักรบผู้ยิ่งใหญ่"
และในฐานะนักรบผู้ยิ่งใหญ่สิ่งที่จะขาดเสียไม่ได้คืออาวุธในการต่อสู้ฟาดฟัน
ปราบปรามข้าศึกอาวุธสำคัญของนักรบคือดาบคำราชาศัพท์เรียกอาวุธสำคัญประจำ
พระองค์พระมหากษัตริย์คือ " พระแสงราชศัสตรา "
นอกจากนี้ยังมีชื่อเรียกต่างกันไปอีก หลายอย่าง เช่น พระแสงราชศาสตรา
พระแสงราชศัสตราวุธ พระแสงราชาวุธ หรือ พระแสงดาบอาญาสิทธิ์ เป็นต้น
เนื่องจากพระแสงราช
ศัสตรามีความสำคัญยิ่งในฐานะเป็นสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายแทนพระราชอำนาจของ
พระมหากษัตริย์ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ฉะนั้นจึงปรากฏ ธรรมเนียมว่า
เมื่อใดก็ตามที่พระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
พระราชทานพระแสงราชศัสตรา
หรือพระแสงดาบอาญาสิทธิ์ให้แก่เจ้านายหรือขุนนางผู้หนึ่งผู้ใด
มีความหมายว่า พระองค์มีพระราชประสงค์ให้บุคคล
ผู้นั้นมีอำนาจราชสิทธิ์เด็ดขาดในการปฏิบัติราชกิจแทนพระองค์ในวาระสำคัญ
บุคคลผู้ใดที่ได้รับพระราชทานพระแสงราชศัสตรา
จึงเปรียบเสมือนเป็นผู้แทนพระองค์ในการใช้อำนาจราชสิทธิ์ มีความชอบธรรม
ในฐานะผู้มีอำนาจเต็ม สามารถดำเนินการออกคำสั่งในกิจการงานใดๆ
ได้เด็ดขาดทุกเรื่อง
แม้จนกระทั่งสามารถตัดสินพิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิดถึงขั้นสูงสุดคือสั่ง
ประหารชีวิตได้โดยไม่ต้องกราบบังคมให้ทราบ
ความก่อนการรับพระราชทานพระแสงราชศัสตราประจำจังหวัดระนอง เมื่อวันพุธที่
18 เมษายน พ.ศ. 2460

พระ บาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเลียบหัวเมืองมณฑลปักษ์ใต้
ฝ่ายตะวันตก เสด็จทางรถไฟออกจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2460
ประทับแรมที่เมืองเพชรบุรี เมืองประจวบคีรีขันธ์ เมืองชุมพร
แล้วทรงช้างพระที่นั่ง
เสด็จโดยสถลมารคข้ามแหลมมาลายูไปลงเรือพระที่นั่งที่ลำน้ำปากจั่น
เสด็จถึงเมืองระนอง เมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2460 เวลา 16.00 น.
ถึงอ่าวระนอง ประทับรถม้า
เป็นรถพระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินไปตามถนนมีราษฎรคอยเฝ้าทูลละอองธุลีพระ
บาทอยู่ทั้ง 2 ฟากทาง
ผ่านซุ้มซึ่งพ่อค้าฝรั่ง พ่อค้าพม่า และพ่อค้าจีน ตกแต่ง รับเสด็จขึ้นเขานิเวศน์ ประทับแรม ณ พระที่นั่ง รัตนรังสรรค์
วันพุธที่ 18 เมษายน 2460 เวลาบ่าย 3 โมง
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องเต็มยศเสือป่า
เสด็จทรงรถพระที่นั่งไปยังพลับพลาทอง แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี
และเสือป่า ทหาร ตำรวจภูธร ถวายวันทยาวุธ
เมื่อสุดเสียงเพลงสรรเสริญพระบารมีแล้วนายพลโทพระยาสุรินทราชา
สมุหเทศาภิบาล สำเร็จราชการมณฑลภูเก็ต อ่านคำกราบบังคมทูลพระกรุณา
ดังต่อไปนี้
" ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม
ข้าพระพุทธเจ้ารับฉันทานุมัติของข้าทูลละอองธุลีพระบาทและประชาชนจังหวัด
ระนอง ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาส
กราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท
ด้วยในการที่ฝ่าละอองธุลีพระบาททรงพระราชอุตสาหะเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑล
ภูเก็ตมาในทางกันดารทั้งทางบกและทางน้ำจนถึงจังหวัดระนองครั้งนี้
ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกเป็นพระมหากรุณาธิคุณพิเศษ เพราะใน พ.ศ. 2452
เมื่อทรงดำรงพระราชอิสริยยศ
สมเด็จพระยุพราชก็ได้เสด็จพระราชดำเนินมาครั้งหนึ่งแล้ว
ข้าพระพุทธเจ้ายังคำนึงถึงพระเดชพระคุณอยู่มิได้ขาดแต่ถึงแม้มาตรว่าข้าพระ
พุทธเจ้ามีความปรารถนาที่จะได้ชม พระบารมีอีกสักปานใด
ก็เป็นอันพ้นวิสัยที่จะให้สมหวังในเวลาอันรวดเร็วเช่นนี้ประการหนึ่ง
อีกประการหนึ่งเมื่อปีก่อนใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ตัดถนนและสร้างทางโทรเลขตั้งแต่จังหวัดชุมพร มาเชื่อมต่อกับจังหวัดระนอง
ซึ่งเจ้าหน้าที่กำลังเร่งรีบทำอยู่ ณ
บัดนี้ก็ควรนับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่ประชาชนจังหวัดระนองอย่างยิ่ง
ฉะนั้นการที่ได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทครั้งนี้
จึงทำให้ข้าพระพุทธเจ้าปลื้มปิติยินดีเป็นอย่างยิ่ง
ตั้งแต่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทได้ทรงรับพระราชภาระ ปกครองพระราชอาณาจักร
พระองค์ได้ทรงทำนุบำรุงรักษาประเทศสยามขึ้นสู่ความเจริญโดยรวดเร็วเพียงใด
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายเห็นประจักษ์อยู่แล้ว ….. "
ลำดับต่อไปนี้
ขออนุญาตอัญเชิญพระราชดำรัสตอบของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อ
สมุหเทศาภิบาลและพสกนิกรชาวจังหวัดระนอง ดังข้อความต่อไปนี้
"เราได้ฟังคำของสมุห
เทศาภิบาลกล่าวในนามของข้าราชการและอาณาประชาชนจังหวัดระนองนี้
เรามีความปีติและจับใจเป็นอันมาก
ที่ได้ทราบว่าท่านทั้งหลายรู้สึกตัวว่าเราได้พยายามและตั้งใจที่จะทำนุบำรุง
พวกท่านทั้งหลาย
ให้มีความสุขความเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับข้อนี้เป็นข้อที่เราปรารถนา
ยิ่งกว่าอย่างอื่น
ส่วนตัวเราที่จะมีความสุขและความสำราญและรื่นรมย์อย่างหนึ่งอย่างใด
ก็โดยรู้สึกว่าได้กระทำการตามหน้าที่มากที่สุดที่จะทำได้ ให้เป็น
ผลสำเร็จเมื่อได้มาแลเห็นผลสำเร็จแม้ไม่เต็มที่
เป็นแต่ส่วนหนึ่งก็นับว่าเป็นสบายใจ
ส่วนจังหวัดระนองนี้เรา ได้เคยมาแต่ครั้งก่อน
ตามที่สมุหเทศาภิบาลได้กล่าวมาแล้วและได้มารู้สึกว่าเป็นที่ซึ่งอาจเป็น
เมืองเจริญได้แห่งหนึ่งในพระราชอาณาจักรของเราแต่หากว่าลำบาก
ในทางคมนาคมจึงทำให้ความเจริญนั้นดำเนินได้ช้ากว่าที่จะเป็นไปได้
เราจึงได้ให้จัดการสร้างถนนระหว่างจังหวัดชุมพรกับจังหวัดระนอง
เพื่อให้การคมนาคมดีขึ้นครั้งเมื่อเราได้มาในคราวนี้อีกครั้งหนึ่งแล้วก็ได้
เดินตามทางที่ตัดใหม่ซึ่งถึงแม้ยังไม่แล้วสำเร็จดีก็อาจทำความสะดวกขึ้นอีก
เป็นอันมาก เมื่อทางไปมาจากจังหวัดชุมพรมาจังหวัดระนอง
สะดวกขึ้นได้ทางบกแล้ว
การค้าขายและการติดต่อในทางทำนุบำรุงอาณาเขตก็ทำให้ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนข้อนี้
ทำให้เรารู้สึกยินดีและรู้สึกเหมือนตัวเราได้มาอยู่ใกล้กับพวกท่านทั้งหลาย
อีกส่วนหนึ่ง
และยังหวังอยู่ว่าจะสามารถจัดการให้การคมนาคมสะดวกยิ่งขึ้นกว่าที่ทำได้ใน
เวลานี้

ในที่สุดนี้เราขอกล่าว ว่าจังหวัดระนองเป็นที่ไปมายากเช่นนี้
เราจึงมีความเสียใจที่จะมาเยี่ยมไม่ได้บ่อย ๆ เท่าที่เราปรารถนาจะมา
แต่ด้วยความรู้สึกเป็นห่วงอยู่เสมอ จึงจะขอให้ของไว้เป็นที่ระลึกแทน คือ
พระแสงราชศัตราที่เป็นของเราใช้ไว้สำหรับท่านทั้งหลายจะได้รับไว้รักษาเพื่อ
เป็นเกียรติยศแก่เมืองนี้ เพื่อเป็นเครื่องแทนตัวเราผู้มาอยู่เองไม่ได้
ขอให้เข้าใจว่าพระแสงนี้เรามอบให้ไม่เฉพาะแต่แก่เจ้าเมืองเท่านั้น
เรามอบให้ท่านทั้งหลายที่เป็นข้าราชการทุกคนต้องช่วยกันตั้งใจทำนุบำรุง
รักษาพระแสงนี้ไม่ให้เสื่อมเสียเกียรติยศลงไปไม่ได้แม้แต่เล็กน้อย
ถึงแม้อาณาประชาชนพลเมืองจงรู้สึกว่ามีหน้าที่เคารพและช่วยรักษาเหมือนกัน
เพราะต้องรู้สึกว่าใน
ส่วนผู้ที่มีหน้าที่ปกครองพระแสงย่อมเป็นเครื่องหมายพระราชอำนาจ
ที่ท่านทั้งหลายรับแบ่งมาใช้ในทางสุจริตทางธรรม
เพื่อนำความร่มเย็นแก่อาณาประชาชน
ฝ่ายอาณาประชาชนก็จงรู้สึกว่าพระแสงนี้เป็นอำนาจปกครองเช่นนั้นเหมือนกันและ
เมื่อรู้สึกว่ามีอำนาจปกครอง อยู่ในที่นี้
สมควรจะได้รับความร่มเย็นจากอำนาจนั้นแล้ว
ก็ต้องนับถือเคารพต่ออำนาจนั้นว่าเป็นเครื่องป้องกันสรรพภัย ดังนี้
ถ้าจะประพฤติให้ถูกต้อง ต้องตั้งตนอยู่ในศีล ในธรรม ความสุจริต ซื่อตรง
จงรักภักดี อยู่ในพระราชกำหนดกฎหมาย
และประพฤติตนให้เป็นพลเมืองดีโดยทั่วกัน
ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดรับพระแสงนี้ไปรักษาไว้แทนบรรดาข้าราชการและอาณา
ประชาชน พลเมืองจังหวัดระนอง
เพื่อเป็นสิริสวัสดิพิพัฒนมงคลแก่ท่านทั้งหลายทั่วกัน"
จึ่งอำมาตย์ตรี พระระนองบุรีศรีสมุทรเขตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง
รับพระราชทานพระแสงราชศัสตราฝักทองคำจำหลักลายจากพระหัตถ์
ขณะนั้นพระสงฆ์สวดชัยมงคล ข้าราชการและประชาชนถวายไชโยพร้อมกัน
และพระระนองบุรีศรีสมุทรเขตต์กราบบังคมทูลรับกระแสพระบรมราโชวาทเหนือเกล้าฯ
เพื่อปฏิบัติตาม และรับพระแสงราชศัสตราอันเป็นเครื่องราชูปโภครักษาไว้
เพื่อเป็นเกียรติยศ และเป็นสวัสดิมงคลแก่จังหวัดระนองสืบไป
รัชกาลปัจจุบัน แม้ว่าจะได้มีการพระราชทานพระแสงราชศัสตราประจำเมืองต่าง ๆ
เพิ่มเติมอีกด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชนิยมโปรดเกล้าฯ
ให้สร้างพระพุทธนวราชบพิตรพระราชทานไปประดิษฐาน ณ จังหวัดต่างๆ แทน
อย่างไรก็ตาม
ทรงตระหนักถึงความสำคัญในการอนุรักษ์สืบสานธรรมเนียมโบราณราชประเพณีอันดี
งามแต่กาลก่อนในการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงได้ทรงพระกรุณาโปรด
เกล้าฯ ถวายพระแสงราชศัสตราประจำเมืองคืนไว้ประจำพระองค์ ในวโรกาสที่เสด็จ
พระราชดำเนินแปรพระราชฐาน หรือในการประกอบพระราชพิธี ณ จังหวัดนั้นๆ
และเมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับจึงพระราชทานพระแสงราชศัสตราประจำเมืองคืนไว้
แก่จังหวัด นั้นๆ
และในพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาในส่วนภูมิภาคจังหวัดที่ได้รับพระราชทานพระแสงราช
ศัสตราประจำเมืองจะต้องอัญเชิญ
พระแสงราชศัสตราประจำเมืองพร้อมพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่
หัวตั้งแต่งในมณฑลพิธี เมื่อเสด็จพิธีแล้วจึงอัญเชิญไปประดิษฐานดังเดิม
เอื้อเฟื้อข้อมูลโดย คุณวิวิทย์ ปันฉิม
นำเสนอโดย นายธนกร สุวุฒิกุล