.png)
ประเทศไทยประกอบด้วยผู้คนหลายเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ วิถีชีวิตที่ดำรงอยู่บนพื้นฐานของความศรัทธา เป็นแนวทางใน การปฏิบัติที่สืบทอดกันมาเป็นวัฒนธรรม ที่แสดงออกในรูปแบบของพิธีกรรมและพิธีการ รวมไปถึงการสร้างบ้านเรือนที่ อยู่อาศัย การแต่งกาย การรับประทานอาหาร ภาษาพูด และการประกอบอาชีพที่ส่วนหนึ่งแสดงถึงความสามารถในเชิง ช่างสร้างงานฝีมือที่งดงาม คือหนึ่งในทรัพยากรทางการท่องเที่ยวที่มีคุณค่าของประเทศ
เมื่อก่อนนี้การเดินทางท่องเที่ยวในบ้านเรา เป็นเพียงการเดินทางไปในที่ต่าง ๆ เพื่อชมธรรมชาติที่บริสุทธิ์สวยงาม เป็นการพักผ่อนหย่อนใจเท่านั้น แต่ปัจจุบันทิศทางการท่องเที่ยวเริ่มเปลี่ยนแปลงไปในเส้นทางของการศึกษาและแลก เปลี่ยนวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน ควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ รูปแบบหนึ่งที่เริ่มได้รับความนิยม คือ การท่องเที่ยวในรูปแบบ “โฮมสเตย์” ที่ให้นักท่องเที่ยวได้มีโอกาสเข้าไปใช้ ชีวิตความเป็นอยู่ร่วมกับคนในท้องถิ่น อยู่บ้านเดียวกัน ทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน เช่น ที่หมู่บ้านคีรีวง จ.นครศรีธรรมราช บ้านปราสาท จ.นครราชสีมา หมู่บ้านไทยทรงดำ จ.เพชรบุรี และหมู่บ้านโคกโก่ง จ.กาฬสินธุ์
การท่องเที่ยวในรูปแบบนี้ นักท่องเที่ยวจะได้ปฏิบัติตนเหมือนกับชีวิตประจำวันของชาวบ้าน เช่น เช้าขึ้นทำอาหาร เตรียมใส่บาตร สายหน่อยออกไปทำไร่ทำนา ปลูกผัก ผู้หญิงอาจอยู่บ้านทำงานฝีมือ ทอผ้า จักสาน ได้รับประทานอาหาร ท้องถิ่น ซึ่งอาจเก็บผัก ตกปลากันเอง ได้เรียนรู้วิถีชีวิตของผู้คนที่ต่างไปจากที่เราเป็นอยู่
ที่ จ.ราชบุรี และสมุทรสงคราม มีตลาดน้ำ ที่ยังคงมีชาวบ้านพายเรือมาค้าขายแน่นลำน้ำ สะท้อนให้เห็นถึงเรื่อง ราวแต่ครั้งอดีตที่ผู้คนยังใช้ประโยชน์จากแม่น้ำลำคลองก่อนจะมีถนนตัดผ่าน หรือที่ จ.อยุธยา สุพรรณบุรี และอ่างทอง ก็ยังคงมีบ้านเรือนไทยให้ได้พบเห็นกัน
ข้อควรปฏิบัติก่อนออกเดินทาง
1. ค้นให้พบความสนใจของตัวเองก่อนว่า รักที่จะท่องเที่ยวแบบไหน เช่น ต้องการไปเรียนรู้วิถีชีวิตความ เป็นอยู่ของผู้คน ไปดูแหล่งศิลปกรรม วัดวาอาราม แหล่งงานหัถกรรม หรือ เทศกาลงานประเพณี
2. เลือกจุดหมายปลายทางที่จะเดินทางไป โดยอาจขอคำแนะนำหรือขอข้อมูลเพิ่มเติมจาก ศูนย์บริการข่าว สารท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และสำนักงาน ททท. ที่รับผิดชอบจังหวัดนั้น ๆ
3. เตรียมความพร้อมก่อนเดินทาง เช่น ศึกษาสภาพอากาศ เพื่อการจัดเตรียมเสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็น สอบถามเส้นทาง หรือหากจะไปเที่ยวชมเทศกาล งานประเพณีประจำปี ควรทราบกำหนดวันเวลาที่แน่นอน รวมทั้งรายละเอียดของงานด้วย
4. ศึกษาข้อมูลของสถานที่และทำความเข้าใจกับเรื่องราวของชุมชน เช่น ขนบประเพณี ความเชื่อของผู้คนในท้องถิ่น เพื่อจะได้ประพฤติปฏิบัติตนได้อย่างเหมาะสม
ข้อควรปฏิบัติระหว่างท่องเที่ยว
1. หากเลือกเดินทางไปท่องเที่ยวในหมู่บ้านที่มีรูปแบบโฮมสเตย์ คือไปพักอาศัยอยู่กับชาวบ้าน เพื่อเรียนรู้ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ควรฝึกตนให้เป็นคนอยู่ง่าย รับประทานง่าย ปฏิบัติตามกฎระเบียบของ หมู่บ้าน เคารพในสิทธิของเจ้าของพื้นที่ และไม่ทำในสิ่งที่ขัดแย้งกับข้อปฏิบัติของชุมชน ไม่ลบหลู่ ความเชื่อของผู้คนในท้องถิ่น
2. อาหารของบางท้องถิ่นอาจไม่เหมือนที่เราคุ้นเคย ขอให้เข้าใจว่าเป็นการเรียนรู้วัฒนธรรมอย่างหนึ่ง อย่าพยายามฝืนให้เจ้าของสถานที่ปรุงแต่งเปลี่ยนรูปแบบเป็นรสชาติสากล เพราะจะไม่หลงเหลือความ เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น
3. การเข้าไปในแหล่งงานหัตถกรรม หมู่บ้านที่ผลิตงานหัตถกรรมต่าง ๆ ควรสนใจที่จะเรียนรู้ขั้นตอนการ ทำงานฝีมือนั้นด้วย เพื่อจะได้ทราบว่า งานฝีมือแต่ละชิ้นกว่าจะสำเร็จต้องใช้ความเพียรพยายามเพียงใด เพื่อความภาคภูมิใจที่จะได้เป็นเจ้าชิ้นงานสักชิ้นหนึ่ง
4. ศึกษาและเรียนรู้เรื่องราวที่พบเห็น เช่น ขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อ ภาษาถิ่น การแต่งกาย ซึ่ง เป็นความแตกต่างของผู้คนแต่ละเผ่าพันธุ์ เพื่อการท่องเที่ยวของเราจะได้มีคุณค่ามากขึ้น
5. สิ่งของอันเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นไม่ควรนำมาครอบครองเป็นสมบัติส่วนตัว ควรเก็บไว้ในที่เดิม เพื่อ ให้เป็นสมบัติของส่วนรวมตลอดไป
6. ช่วยกันรักษาวัฒนธรรมอันดีงามของคนในชนบท ด้วยการปฏิบัติตนตามคำแนะนำต่าง ๆ ที่ได้ศึกษามา อย่าส่งเสริมให้มีการยึดถือวัตถุมากกว่าน้ำใจ เพื่อให้ความมีน้ำใจและความเอื้ออาทรยังคงอยู่เป็นเสน่ห์ ของสังคมไทยตลอดไป
ขอขอบพระคุณ ข้อมูลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
http://www.tat.or.th/thai/travelling_eco_tourism.php?travel_id=14