นิทานเรื่องสำคัญที่สุด คือ เรื่องพระอภัยมณี ก็น่าจะเริ่มแต่งในช่วงนี้ด้วย (เป็นแต่เริ่มแต่ง มิได้แต่งตลอดทั้งเรื่อง) นิทานเรื่องนี้แปลกแหวกแนวยิ่งกว่านิทานจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องใดที่เคยมีมา ทำให้คณะละครนายบุญยังโด่งดังเป็นพลุ เป็นที่ต้องการของใครต่อใครและแน่นอนชื่อเสียงของท่านสุนทรภู่ก็โด่งดังไปไม่แพ้กัน ทั่วทั้งกรุงเทพฯ และหัวเมืองใกล้เคียง
รับราชการครั้งที่ ๑ (พ.ศ. ๒๓๕๙ – ๒๓๖๗ ) อายุ ๓๐ – ๓๘ ปี
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงเป็นมหากวีและทรงสนพระทัยเรื่องการละครเป็นอย่างยิ่ง ในรัชสมัยของพระองค์ได้กวดขันการฝึกหัดวิธีรำจนได้ที่ เป็นแบบอย่างของละครรำมาตราบทุกวันนี้ พระองค์ยังทรงพระราชนิพนธ์บทละครขึ้นใหม่อีกถึง ๗ เรื่อง มีเรื่องอิเหนาและเรื่องรามเกียรติ์ เป็นต้น สุนทรภู่ได้เข้ารับราชการในปี พ.ศ. ๒๓๕๙ ในกรมพระอาลักษณ์ เรื่องราวของกวี ที่ปรึกษาท่านนี้ ที่ได้แสดงฝีมือเป็นที่พอพระทัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เล่าว่าครั้งหนึ่ง เมื่อพระองค์ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ ถึงตอนนางสีดาผูกคอตาย บทพระราชนิพนธ์รัชกาลที่๑ ซึ่งเล่นละครกันมา กล่าวบทนางสีดาตอนเมื่อจะผูกคอตายว่า
" เอาภูษาผูกศอให้มั่น แล้วพันกับกิ่งโศกใหญ่
หลับเนตรจำนงปลงใจ อรไทก็โจนลงมา”
ต่อนี้ถึงบทหนุมานว่า
๏ บัดนั้น วายุบุตรวุฒิไกรใจกล้า
ครั้นเห็นองค์อัครกัลยา ผูกศอโจนมาก็ตกใจ
ตัวสั่นเพียงสิ้นชีวิต ร้อนจิตดังหนึ่งเพลิงไหม้
โลดโผนโจนลงตรงไป ด้วยกำลังว่องไวทันที (เชิด)
ครั้นถึงจึงแก้ภูษาทรง ที่ผูกศอองค์พระลักษมี
หย่อนลงยังพื้นปัถพี ขุนกระบี่ก็โจนลงมา
ทรงติว่าบทเก่าตรงนี้ กว่าหนุมานจะเข้าไปแก้ไขนางสีดา นางสีดาก็คงตายไปแล้ว จึงทรงพระราชนิพนธ์ตอนนี้ใหม่ หวังจะให้หนุมานเข้าไปช่วยนางสีดาได้โดยเร็ว ทรงแต่งบทนางสีดาว่า
"จึงเอาผ้าผูกพันกระสันรัด เกี่ยวกระหวัดกับกิ่งโศกใหญ่”
แล้วก็เกิดขัดข้องว่า จะแต่งบทหนุมานอย่างไรให้แก้นางสีดาโดยเร็ว เหล่ากวีที่ปรึกษาไม่มีใครสามารถแต่งบทให้พอพระราชหฤทัยได้ จึงโปรดให้สุนทรภู่ที่หมอบเฝ้าอยู่ด้วยลองแต่งดู
สุนทรภู่แต่งต่อว่า
"ชายหนึ่งผูกศออรไท แล้วทอดองค์ลงไปจะให้ตาย
๏ บัดนั้น วายุบุตรแก้ได้ดังใจหมาย”
ปรากฏว่าเป็นที่พอพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง ทรงยกย่องสุนทรภู่ว่าเก่งอีกคราวหนึ่งเมื่อทรงพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ตอนศึกสิบขุนสิบรถ ทรงพระราชนิพนธ์บทชมรถทศกัณฐ์ว่า
"๏ รถที่นั่ง บุษบกบัลลังก์ตั้งตระหง่าน
กว้างยาวใหญ่เท่าเขาจักรวาล ยอดเยี่ยมเทียมวิมานเมืองแมน
ดุมวงกงหันเป็นควันคว้าง เทียมสิงห์วิ่งวางข้างละแสน
สารถีขี่ขับเข้าดงแดน พื้นแผ่นดินกระเด็นไปเป็นจุณ”
ทรงพระราชนิพนธ์มาได้เพียงนี้ ทรงนึกความที่จะต่อไปอย่างไรให้สมกับที่รถใหญ่โตปานนั้นก็นึกไม่ออกจึงมีรับสั่งให้สุนทรภู่แต่งต่อสุนทรภู่แต่งต่อว่า
" นทีตีฟองนองระลอก กระฉอกกระฉ่อนชลข้นขุ่น
เขาพระเมรุเอนเอียงอ่อนละมุน อนนต์หนุนดินดานสะท้านสะเทือน
ทวยหาญโห่ร้องก้องกัมปนาท สุธาวาสไหวหวั่นลั่นเลื่อน
บดบังสุริยันตะวันเดือน คลาดเคลื่อนจัตุรงค์ตรงมา”
กลอนบทนี้เป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยยิ่งนัก นับแต่นั้นก็นับ สุนทรภู่เป็นกวีที่ปรึกษาด้วยอีกคนหนึ่ง ทรงตั้งเป็นที่ขุนสุนทรโวหาร พระราชทานที่ให้ปลูกเรือนที่ท่าช้าง และให้มีตำแหน่งเฝ้าฯ เป็นนิจ แม้เวลาเสด็จประพาสก็โปรดฯ ให้สุนทรภู่ลงเรือพระที่นั่งไปด้วย เป็นพนักงานอ่านเขียนในเวลาทรงพระราชนิพนธ์บทกลอน
ออกบวช (พ.ศ. ๒๓๖๗ – ๒๓๘๕ ) อายุ ๓๘ – ๕๖ ปี
วันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๖๗ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต นอกจากแผ่นดินและผืนฟ้าจะร่ำไห้ ไพร่ธรรมดาคนหนึ่งที่มีโอกาสสูงสุดในชีวิตได้เป็นถึงกวีที่ปรึกษาในราชสำนักก็หมดวาสนาไปด้วย สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ถึงเหตุที่สุนทรภู่ไม่กล้ารับราชการต่อในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ดังนี้
"เล่ากันว่า เมื่อทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องอิเหนา ทรงแต่งตอนนางบุษบาเล่นธาร เมื่อท้าวดาหาไปใช้บน พระราชทานให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังดำรงพระยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงแต่ง
"เมื่อทรงแต่งแล้วถึงวันจะอ่านถวายตัว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีรับสั่งวานสุนทรภู่ตรวจดูเสียก่อน สุนทรภู่อ่านแล้วกราบทูลว่าเห็นดีอยู่แล้ว ครั้นเสด็จออก เมื่อโปรดให้อ่านต่อหน้ากวีที่ทรงปรึกษาพร้อมกันถึงบทแห่งหนึ่งว่า
"น้ำใสไหลเย็นแลเห็นตัว ปลาแหวกกอบัวอยู่ไหวไหว”
"สุนทรภู่ติว่ายังไม่ดี ขอแก้เป็น
"น้ำใสไหลเย็นเห็นตัวปลา ว่ายแหวกปทุมาอยู่ไหวไหว”
"โปรดตามที่สุนทรภู่แก้ พอเสด็จขึ้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็กริ้ว ดำรัสว่า เมื่อขอให้ตรวจทำไมจึงไม่แก้ไข แกล้งนิ่งเอาไปไว้ติหักหน้ากลางคัน เป็นเรื่องที่ทรง ขัดเคืองสุนทรภู่ครั้งหนึ่ง
"อีกครั้งหนึ่ง รับสั่งให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแต่งบทละครเรื่อง สังข์ทอง ตอนท้าวสามลจะให้ลูกสาวเลือกคู่ ทรงแต่งคำปรารภของท้าวสามลว่า
"จำจะปลูกฝังเสียยังแล้ว ให้ลูกแก้วสมมาดปรารถนา”
"ครั้นถึงเวลาอ่านถวาย สุนทรภู่ถามขึ้นว่า 'ลูกปรารถนาอะไร' พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องแก้ว่า
"จำจะปลูกฝังเสียยังแล้ว ให้ลูกแก้วมีคู่เสน่หา”
"ทรงขัดเคืองสุนทรภู่ว่าแกล้งปรมาสอีกครั้งหนึ่ง แต่นั้นก็ว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมึนตึงต่อสุนทรภู่มาจนตลอดรัชกาลที่ ๒ ...”
จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ เพียงคิดได้ด้วยเฉพาะหน้าตรงนั้นก็ตาม สุนทรภู่ก็ได้ทำการไม่เป็นที่พอพระราชหฤทัย ประกอบกับความอาลัยเสียใจหนักหนาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สุนทรภู่จึงลาออกจากราชการ และตั้งใจบวชเพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณ สุนทรภู่ได้เผยความในใจนี้ ในตอนหนึ่งของนิราศภูเขาทอง ว่า
"จะสร้างพรตอตส่าห์ส่งบุญถวาย ประพฤติฝ่ายสมถะทั้งวสา
เป็นสิ่งของฉลองคุณมุลิกา ขอเป็นข้าเคียงพระบาททุกชาติไป”
เมื่อบวชแล้ว ท่านได้ออกจาริกแสวงบุญไปยังที่ต่าง ๆ เล่ากันว่า ท่านได้เดินทางไปยังหัวเมืองต่าง ๆ หลายแห่ง เช่น เมืองพิษณุโลก เมืองประจวบคีรีขันธ์ จนถึงเมืองถลางหรือภูเก็ต และเชื่อกันว่าท่านคงจะเขียนนิราศเมืองต่างๆ นี้ไว้อย่างแน่นอน เพียงแต่ยังค้นหาต้นฉบับไม่พบ
ราวปี พ.ศ. ๒๓๗๐ ท่านก็กลับมาจำพรรษาที่วัดราชบูรณะ หรือวัดเลียบ แต่หลังจากกลับมาอยู่ได้ไม่นานสุนทรภู่เกิดอธิกรณ์กับพระในวัด อาจด้วยเหตุทะเลาะวิวาทอย่างใดอย่างหนึ่ง (บางแห่งสันนิษฐานว่าท่านเมาสุรา) จึงถูกขับออกจากวัด เมื่อรับกฐินในปลายปี พ.ศ. ๒๓๗๑ ท่านก็ออกเดินทางไปกรุงเก่า และได้แต่งนิราศภูเขาทอง อันเป็นนิราศเรื่องเยี่ยมที่สุดของท่าน และเป็นวรรณกรรมชิ้นเอกของวงการกวีไทย เหตุที่คาดว่าท่านเกิดการวิวาทกับพระในวัด ด้วยความตอนหนึ่งในนิราศภูเขาทองกล่าวว่า
"โอ้อาวาสราชบูรณะพระวิหาร แต่นี้นานนับทิวาจะมาเห็น
เหลือรำลึกนึกน่าน้ำตากระเด็น เพราะขุกเข็ญคนพาลมารานทาง
จะหยิบยกอธิบดีเป็นที่ตั้ง ก็ใช้ถังแทนสัดเห็นขัดขวาง
จึ่งจำลาอาวาสนิราศร้าง มาอ้างว้างวิญญาในสาคร”
เมื่อกลับจากกรุงเก่า พระสุนทรภู่ได้ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดอรุณราชวราราม หรือวัดแจ้ง ปี พ.ศ. ๒๓๗๒ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงฝากเจ้าฟ้ากลางและเจ้าฟ้าปิ๋ว พระโอรสองค์กลางและองค์น้อยให้เป็นศิษย์สุนทรภู่ การมีศิษย์ชั้นเจ้าฟ้าเช่นนี้จึงทำให้พระสุนทรภู่สุขสบายขึ้น พระสุนทรภู่อยู่วัดอรุณฯ ราว ๒ ปี จึงข้ามฟากมาจำพรรษาอยู่ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ เล่ากันถึงสาเหตุที่พระสุนทรภู่ย้ายวัดมา ก็เพราะสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงชักชวนให้มาอยู่ด้วยกัน สมเด็จฯ ทรงเป็นกวีองค์สำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์พระองค์หนึ่ง เชื่อว่าคงจะทรงคุ้นเคยกับสุนทรภู่ในฐานะที่เป็นกวีด้วยกัน โดยเฉพาะสมัยที่สุนทรภู่เป็นขุนสุนทรโวหารในรัชกาลที่ ๒ ชีพจรลงเท้าสุนทรภู่อีกครั้ง เมื่อท่านเกิดไปสนใจเรื่องเล่นแร่แปรธาตุและยาอายุวัฒนะ ถึงแก่อุตสาหะไปค้นหา ทำให้เกิดนิราศวัดเจ้าฟ้า และนิราศสุพรรณ ปี พ.ศ. ๒๓๘๓ สุนทรภู่มาจำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม ท่านอยู่ที่นี่ได้ ๓ พรรษา คืนหนึ่งเกิดฝันร้าย ว่าชะตาขาด จะถึงแก่ชีวิต จึงได้แต่งเรื่องรำพันพิลาป ซึ่งทำให้ทราบเรื่องราวในชีวิตของท่านอีกเป็นอันมาก จากนั้นจึงลาสิกขาบทเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๕ เพื่อเตรียมตัวจะตาย
รับราชการครั้งที่ ๒ (พ.ศ. ๒๓๘๕ – ๒๓๙๘) อายุ ๕๖ – ๖๙ ปี
เมื่อสึกออกมา สุนทรภู่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งทรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ โปรดอุปถัมภ์ให้
สุนทรภู่ไปอยู่พระราชวังเดิมด้วย ต่อมากรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ทรงพระเมตตาอุปการะสุนทรภู่ด้วย กล่าวกันว่า ชอบพระราชหฤทัย ในเรื่องพระอภัยมณี จึงมีรับสั่งให้สุนทรภู่แต่งต่อ นอกจากนี้ สุนทรภู่ยังแต่งเรื่องสิงหไตรภพถวายกรมหมื่นอัปสรฯ อีกเรื่องหนึ่ง แม้สุนทรภู่จะอายุมากแล้ว แต่ท่านก็ยังรักการเดินทางและรักกลอนเป็นที่สุด ท่านได้แต่งนิราศไว้อีก ๒ เรื่อง คือนิราศพระประธม และนิราศเมืองเพชร สุนทรภู่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "พระสุนทรโวหาร” ในปี พ.ศ. ๒๓๙๕ ขณะที่ท่านมีอายุได้ ๖๕ ปีแล้ว ท่านถึงแก่อนิจกรรมเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๘ รวมอายุได้ ๖๙ ปี
นำไปสู่หมุดกวี
เป็นมาอย่างไร
คณะกรรมการดำเนินการตามรอยสุนทรภู่ร่วมกับอำเภอเมืองระยอง นำโดย นายเถลิง ครามะคำ นายอำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง ในขณะนั้นได้เริ่มกันคิดสื่อแสดงอันเป็นสัญลักษณ์แห่งการเดินทางผ่านตำบลและสถานที่ต่าง ๆ ที่ท่านสุนทรภู่บันทึกไว้ในนิราศเมืองแกลง จึงได้กำหนดจุดจารึกบทกลอนในนิราศที่กล่าวถึงสถานที่นั้น ๆ ไว้ เฉพาะเขตจังหวัดระยอง รวมทั้งสิ้น ๒๘ จุด เรียกว่า "หมุดกวี”
ลักษณะของหมุดกวี
ออกแบบโดยอาจารย์อำนวย หมั่นสมัคร ศิลปินดีเด่นจังหวัดระยอง สาขาทัศนศิลป์ ด้านศิลปะออกแบบ ในฐานะที่เป็นกรรมการสภาวัฒนธรรม จังหวัดระยอง ได้ออกแบบหมุดกวีนี้ไว้ โดยจัดทำด้วยแผ่นหินแกรนิต สีดำ ขนาด ๖๐ x ๙๐ เซนติเมตร จารึกบทกวีเป็นอักษรไทยตัวในคอมพิวเตอร์แบบ Wansika โดยพ่นด้วยทรายในรอยลึกลงไปจากผิวแผ่นหิน แล้วปิดทอง วางเอียงลักษณะ ๔๕ องศา เพื่อให้สะดวกในการอ่าน อยู่บนแท่นคอนกรีต สูง ๘๐ เซนติเมตร ที่มีฐานกว้าง ๒.๐๐ x ๒.๐๐ เมตร กำหนดจุดตั้งไว้ตามตำบลและสถานที่ต่าง ๆ ที่สุนทรภู่กล่าวถึงในนิราศเมืองแกลง คณะกรรมการโดยอำเภอเมืองระยอง และคณะทำงานของจังหวัด ได้ดำเนินการปัก "หมุดกวี” เป็นปฐมฤกษ์ ประกอบพิธีบวงสรวง และเปิดหมุดกวีหมุดแรก ที่บริเวณหน้าห้างบิ๊กซี จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๔ เวลา ๐๙.๐๙ นาฬิกา และคาดการณ์ว่าอนาคตจะเกิดเส้นทางท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดระยอง บทกลอนที่จารึกไว้ ณ หมุดกวีที่มีการปักเป็นปฐมฤกษ์นั้น เป็นจุดที่ ๑๒ ใน ๒๘ จุดที่กำหนดไว้ โดย”หมุดกวี”ในจุดนี้ห้างบิ๊กซีระยอง เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง มีบทกวีกล่าวไว้ว่า
พอสิ้นดง ตรงบาก ออกปากช่อง
ถึงระยอง เหย้าเรือน ดูไสว
แวะเข้าย่าน บ้านเก่า ค่อยเบาใจ
เขาจุดไต้ ต้อนรับ ให้หลับนอน
และต่อมารับความร่วมมือจากเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลต่าง ๆ ตามเส้นทางที่สุนทรภู่เดินผ่าน ได้ร่วมมือร่วมใจกันสร้างหมุดกวีไว้ ดังจะได้กล่าวต่อไป
หมุดกวี จุดที่ ๑ บางไผ่
สถานที่ตั้ง บ้านชากหมาก ริมเส้นทางที่ใช้เดินสัญจรไปตำบลชากแง้ว อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ใกล้ ๆ กับวัดชากหมากปัจจุบัน บทกลอนจากรึกไว้ว่า
ถึงบางไผ่ ไม่เห็นไผ่ เป็นไพรชัฏ
แสนสงัด เงียบใน ไพรพฤกษา
ต้องข้ามธาร ผ่านเนิน เดินวนา
อรัญวา อ้างว้าง ในกลางดง
บางไผ่ เข้าใจว่า คือ คลองไผ่ ปัจจุบันจะมีอ่างเก็บน้ำคลองไผ่อยู่ใกล้ ๆ บริเวณที่ปัก "หมุดกวี” จุดนี้มิได้หมายถึง "บ้านคลองไผ่” ที่เป็นโรงเรียน และวัดที่ตั้งอยู่เขตสนามบินอู่ตะเภาในปัจจุบัน
หมุดกวี จุดที่ ๒ พงค้อ
สถานที่ตั้ง อยู่บนเส้นทางที่ตัดจากบ้านชากหมาก ออกมาวัดเนินกระปรอก ตำบลสำนักท้อน อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง ในปัจจุบัน บทกลอนจารึกไว้ว่า
ถึงพงค้อ คอเขา เป็นโขดเขิน
ต้องขึ้นเนิน ภูผา ป่าระหง
สูงกระทั่ง หลังโคก เป็นโตรกตรง
เมื่อจะลง ก็ต้องวิ่ง เหมือนลิงโลน
บ้านพงค้อ ปัจจุบันถ้าผ่านไปเข้าบริเวณที่ปักหมุดกวี จะพบว่าด้านซ้ายนั้นมีภูเขาสูง มีก้อนหินระเกะระกะ สวยงามมาก บริเวณรอบ ๆ เป็นป่ามันและป่าละเมาะอยู่ประปราย
หมุดกวี จุดที่ ๓ พุดร
สถานที่ตั้ง อยู่ใกล้ ๆ กับเขาภูดรในปัจจุบัน ริมถนนสายชากหมาก – เนินกระปรอก ตำบลสำนักท้อน อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง บทกลอนจากรึกไว้ว่า
ถึงพุดร สาคร เป็นพวยพุ
น้ำทะเล ออกจาก ชะวากขวาง
ดูซึ่งใส ไหลเชี่ยว เป็นเกลียวกลาง
สไบบาง ชุบซับ กับอุรา
พุดร ที่กล่าวถึงปัจจุบันไม่มีน้ำ "ดูใสซึ้ง ไหลเชี่ยวเป็นเกลียวกลาง” อีกต่อไป เพราะวันเวลาห่างกันเกือบสองร้อยปี ป่าที่เคยอุดมสมบูรณ์ในอดีตเหลือเพียงป่ายูคาลิปและไร่มันสำปะหลัง เท่านั้น
หมุดกวี จุดที่ ๔ ห้วยอีร้า
สถานที่ตั้ง ปรากฏชื่อในทำเนียบของกรมการปกครอง คือ หมู่ที่ ๕ บ้านยายร้า ตำบลสำนักท้อน อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง มีบทกลอนจารึกไว้ว่า
ถึงห้วยอีร้า แลระย้า ล้วนสายหยุด
ดอกนั้นสุด ที่จะดก ดูไสว
กะมองกะแมง นมแมว เป็นแถวไป