มาลัยตุ้ม
มาลัยตุ้ม หมายถึง มาลัยที่ร้อยให้มีลักษณะรูปทรงตามขวางเป็นรูปกลมโดยเริ่มต้นจะเป็นวงกลมขนาดเล็กแล้วค่อยๆใหญ่หรือกว้างขึ้นทีละน้อยมาถึงประมาณช่วงกลางแล้วค่อยๆลดลงทีละน้อยให้มีขนาดเท่ากับตอนแรกๆ จนกระทั่งเหมือนตอนขึ้นต้น ส่วนลักษณะรูปทรงตามยาวนั้นคล้ายดอกบัวตูม ช่วงหัวท้ายเรียวตรงกลางป่องโค้งมน มาลัยตุ้มขนาดเล็กสุดนิยมร้อย ๙ ชั้น และขนาดใหญ่สุด ๑๕ ชั้น การร้อยมาลัยตุ้มจำนวนชั้นจะต้องเป็นเลขคี่เสมอ เช่น ๙,๑๑,๑๓,๑๕ มาลัยตุ้มมี ๒ แบบ ด้วยกัน คือ
๑. แบบไม่มีลาย ๒. แบบมีลาย
หน้าที่ใช้สอยของมาลัยตุ้ม
๑. ใช้เป็นมาลัยชำร่วยให้แก่แขกที่มาในงาน เช่น งานหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ใน พิธีมงคลสมรส หรือในโอกาสอื่นๆ
๒. ใช้เป็นส่วนประกอบตกแต่งในงานประดิษฐ์ดอกไม้สดของไทย เช่น งานเครื่องแขวนดอกไม้สดของไทย
๓. ร้อยใส่ไม้ไผ่แหลม ๆต่อก้านแล้วปักแจกัน หรือจัดดอกไม้สดในโอกาสต่างๆ
๔. ใช้เป็นส่วนประกอบของมาลัย
๕. ใช้เป็นส่วนประกอบของมาลัยครุย
๖. ใช้ประกอบเป็นมาลัยคล้องมือ
วัสดุ – อุปกรณ์
๑. ดอกไม้ ๒. ด้าย ๓. เข็มร้อยมาลัย ๔. กรรไกร ๕. ใบตอง ๖. ใบไม้
วิธีการร้อยมาลัยตุ้ม มีหลักสำคัญดังต่อไปนี้
๑.จะต้องเริ่มต้นร้อยด้วยดอกเล็ก หรือกลีบเล็กก่อน ควรส่งก้านหรือส่งกลีบสั้นที่สุด และชั้นต่อๆไปควรส่งก้านให้ยาวขึ้นทีละน้อยๆ จนถึงช่องยาวประมาณครึ่งเป็นช่วงที่มีความป่องโตเต็มที่เท่ากับขนาดที่ต้องการ ( ช่อง ๒ - ๓ แถวตรงกลาง ) แล้วค่อยๆ ส่งก้านสั้นลงทีละน้อยย้อนกลับมาเท่าขนาดตอนเริ่มต้น
๒. ความยาวของมาลัยตุ้มประมาณ ๒ - ๓ นิ้ว ต้องระวังอย่าร้อยให้ยาวนัก เพราะมองดูแล้วจะกลายเป็นมาลัยตัวหนอนไป
๓. การขึ้นต้นมาลัยตุ้มนั้น จำนวนดอกหรือกลีบไม่แน่นอนย่อมขึ้นอยู่กับขนาดของดอกหรือ กลีบด้วยว่ามีขนาดเล็กหรือใหญ่ ถ้าดอกใหญ่หรือกลีบใหญ่ก็ขึ้นจำนวนกลีบน้อย แล้วค่อยๆ เพิ่มขึ้นตามความเหมาะสมในชั้นต่อๆ ไป เช่น ถ้าดอกพุดตูม (ขนาดเล็ก) หรือกลีบกุหลาบจะขึ้นต้นประมาณ ๕ ดอกหรือ ๕ กลีบ แต่ถ้าเป็นดอกบานไม่รู้โรยจะขึ้นต้นเพียง ๑ ดอกเท่านั้น |