องค์ความรู้ด้านภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม /ความสำคัญ
การทอผ้าไหม นับว่าเป็นกิจกรรมของครอบครัวชาวชนบทในท้องถิ่นที่ยึดถือปฏิบัติต่อกันมาแต่โบราณนับร้อยนับพันปีมาแล้ว ซึ่งการทอผ้าไหมนั้น นอกจากเป็น อุตสาหกรรมในครัวเรือน ผลิตเพื่อการ นุ่งห่มแล้ว
ยังเป็นการแสดงออกถึงศิลปวัฒนธรรม ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชาวชนบทมาตั้งแต่โบราณกาล เนื่องจากเส้นไหม
เป็นเส้นใยของสัตว์ที่มีความสวยงามเป็น พิเศษอยู่ในตัว
ดังนั้นเมื่อทอออกมาแล้วก็จะได้ผ้าที่สวยงามเป็นเงาวับจับตาผู้พบเห็น นอกจากความสวยงามในตัวเส้นไหมแล้ว บรรพชนในอดีตได้ช่วยกันสร้างสรรค์ศิลปะที่วิจิตรพิสดารให้เกิดขึ้นบนผืนผ้าไหมอีกด้วย ศิลปะอันงามวิจิตรนี้ ทำให้เกิดเทคนิคการ ทอและลวดลายบนผืนผ้าไหมแบบต่างๆ
มากมายหลายแบบ ตั้งแต่ ผ้าไหมพื้นธรรมดา ย้อมสีธรรมชาติได้หลากหลาย จนถึงพัฒนา ให้เป็นผ้าลายต่างๆ เช่นผ้าหางกระรอก ผ้ายกดอก ผ้าขิด ผ้าตีนจก
ผ้าลายน้ำไหล
นำเส้นไหมมามัดหมี่ทอให้เป็นลายต้นไม้ ดอกไม้ สัญลักษณ์ต่างๆ รูปคน
และสัตว์ เป็นต้น ซึ่งศิลปะบนลายผ้าไหมแต่ละแบบล้วนใช้เทคนิคในการทอที่แตกต่างกันไป
การรักษาเอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม จำเป็นต้องมีการสืบทอดอย่างถูกต้องและเข้าใจ
อย่างลึกซึ้งไม่ใช่เข้าใจเพียงผิวเผินแล้วนำมาประยุคใช้จนกระทั่งลืมรากเหง้าของคติชนที่ซ่อนอยู่ในวัฒนธรรมอย่างแท้จริง การแต่งกาย ถือว่าเป็นวัฒนธรรมในวิถีชีวิตอย่างหนึ่งของคนไทย ในอดีตผู้หญิงที่เข้าสู่วัยสาวหรือจะเข้าสู่วัยครองเรือนนั้น จะต้องรู้จักทอผ้าและตัดเย็บเสื้อไว้ใช้เมื่อยามออกเรือน โดยเฉพาะการตัดเย็บเสื้อที่เรียกว่า "อาวเก๊บ" ซึ่ง
อาวเก็บนั้นต้องตัดเย็บให้เป็นและเทอแซวให้สวยงามเป็นพิเศษ มาถึงบัดนี้
กิจกรรมดังกล่าวกำลังจะหายไปจากสังคมทั้งที่เป็นสังคมเมืองและสังคมชนบท
เพราะ วัฒนธรรมของชาติตะวันตกกำลังหลั่งไหลเข้ามามีอิทธิพลอย่างไม่หยุดยั้ง
ครอบงำ จนอาจจะเหลือเป็นเพียงตำนานก็เป็นได้ หากไม่ช่วยกันอนุรักษ์ สืบสาน
ให้คงอยู่คู่กับชาติไทย ดังคำที่ว่า
"ชาติใดก็ตามที่ถูกชาติอื่นครอบงำ
ทางด้านวัฒนธรรมจนหมดสิ้น
ชาตินั้นก็จะสูญสิ้นความเป็นชาติไปในที่สุด” ในทางตรงข้าม ชาติใดก็ตามที่สามารถดำรงความเป็นชาติของตนเองได้อย่างสง่างามนั้น
เพราะประชาชนในชาติ มีความรักและภาคภูมิใจในศิลปวัฒนธรรมประจำชาติของตน
จึงช่วยกันรักษาและหวงแหนศิลปวัฒนธรรมให้ดำรงอยู่ตลอดมา”
ผ้าเหยียบย้อมมะเกลือ (ลายลูกแก้ว) หรือผ้าเก็บย้อมสีธรรมชาติ
จากผลมะเกลือ
ในสมัยโบราณ ชาวไทยที่พูดภาษาท้องถิ่นเป็นภาษาเขมรในเขตพื้นที่อำเภอห้วยทับทัน และอำเภอขุขันธ์ ซึ่งเป็นเมืองเก่าแก่ มักมีความพิถีพิถันในเรื่องการแต่งกายเช่นเดียวกับคนในภูมิภาคอื่นๆ ของไทย โดยผู้ชายนุ่งผ้าโสร่ง ผ้าขาวม้าลายโกนจะดอ คาดเอว หรือโพกหัว ส่วนผู้หญิงนิยมสวมเสื้อเก๊บพาดบ่าด้วยผ้าสไบหรือผ้าเบี่ยง นุ่งผ้าถุงติดปะโบร และซัลเลิ้กไปร่วมงานบุญ งานเทศกาล
ประเพณี ในวัด/หมู่บ้าน/ชุมชน เสื้อที่สวมใส่ ได้จากการตัดเย็บด้วยมือล้วนๆ (ไม่ได้เย็บด้วยจักร) โดยเฉพาะผ้านุ่งที่มีเอกลักษณ์มาแต่โบราณสวยงามมาก ไม่ว่าจะเป็นผ้าเก๊บหรือผ้าไหมลายลูกแก้ว ลายสมอ ลายสกู ลายกระเนียว ลายอันปรม ลายโฮร ลายโกนจะดอ นำมาต่อหัวผ้านุ่งเรียกว่า "กะบาลซัมป๊วด" และต่อเชิงผ้านุ่ง เรียกว่า "ปะโบร" และที่ปะโบรนี้จะมีผ้าที่เรียกว่า "ผ้าสะเลิ๊ก " ทอจากฝ้ายติดต่อที่ปลายปะโบรเพื่อให้ผ้าไหมทิ้งตัวยิ่งขึ้น เหตุที่ต้องต่อหัวผ้านุ่งและเชิงผ้าเนื่องจากผ้าทอในสมัยโบราณจะมีหน้าฟันกี่ที่แคบ
เมื่อทอแล้วจะได้ผ้าหน้าแคบตามฟันกี่ เวลานุ่งจะมีขนาดสั้นจึงต้องใช้ผ้าเหล่านี้มาต่อให้ยาวขึ้นและยังทำให้เกิดความสวยงามมากยิ่งขึ้นด้วย ปัจจุบันการผลิตหน้าฟันกี่มีความกว้างมากขึ้น
ทำให้ผ้ามีความกว้างพอเหมาะกับผู้สวมใส่
จึงนำหัวผ้านุ่งมาเป็นผ้าสไบแทน
ในปัจจุบัน ส่วนราชการได้ส่งเสริมให้ข้าราชการ พ่อค้า
และประชาชนแต่งกายด้วยผ้าไทยพื้นเมืองโบราณ
เพื่อรักษาความเป็นเอกลักษณ์ของชาวไทยเชื้อสายเขมร ในช่วงเทศกาลแซนโฎนตา (เดือนสิงหาคม–กันยายน) การทอผ้าไหมแบบพื้นบ้าน
ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่คนไทยในท้องถิ่น ได้ถ่ายทอดสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น มีความผูกพัน เกี่ยวข้องกับชีวิตและจิตใจ
และนับได้ว่าส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของชาวชนบท
สมัยก่อนชาวบ้านจะปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเอง
ปลูกฝ้ายเอง ทอเอง ตัดเย็บเครื่องนุ่งห่มใช้ในครัวเรือนเอง ซึ่งแต่ละท้องที่แต่ละชุมชนก็จะมีภูมิปัญญาในการผลิต
การถักทอ อันเป็นอัตลักษณ์ที่แตกต่างกันไป โดยเฉพาะการย้อมสีผ้าไหม ซึ่งในอดีตจะใช้วัตถุดิบธรรมชาติในการย้อมสีผ้าไหมด้วยกรรมวิธีที่สืบทอดกันมาแต่โบราณส่วนมากใช้สีที่ได้จากเปลือก ราก ใบ ดอก
แก่น หรือผลของต้นไม้ โดยผสมกับวัตถุดิบอื่นๆ เช่น ด่าง เกลือ
เป็นต้น
ผ้าเหยียบย้อมมะเกลือ (ลายลูกแก้ว)
มะเกลือ เป็นพันธ์ไม้วงศ์เดียวกันกับมะพลับและตะโก เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง จนถึงขนาดใหญ่ ลำต้นตรง เปลือกนอกสีดำ แตกเป็นสะเก็ดเล็กๆ ใบเดี่ยวรูปไข่สีเขียวเข้ม เรียงสลับกัน ออกดอกตามซอกใบ
เป็นช่อและดอกเดี่ยว มีต้นตัวผู้และต้นตัวเมีย ดอกตัวผู้เป็นช่อสั้นๆ ออกตามง่ามใบ ใน ๑ ช่อ มีประมาณ ๒-๓ ดอก ดอกตัวเมียออกเป็นดอกเดี่ยว ดอกตัวผู้และตัวเมียมีสีเขียวอมเหลือง
ดอกตัวเมียมีกลีบรองกลีบดอกคงทนและขยายใหญ่เมื่อเป็นผลจะออกดอกระหว่างเดือนมกราคม-กันยายน มีผลกลม ผิวเรียบ สีเขียวอมเทา เมื่อผลสุก ผิวผลเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมเทา
ภายในมีเมล็ด ๔-๕ เมล็ด มีเนื้อนิ่มๆ สีเหลือง
รสหวาน เฝื่อน
ผลมะเกลือ
เมื่อสุกเต็มที่ผิวเปลือกจะเป็นสีเหลือง
ผลดิบเมื่อนำมาบด หรือตำจะเป็นสีดำ
ใช้ย้อมผ้า เรียกว่า "ผ้าย้อมมะเกลือ” ผลมะเกลือจะแก่พอดีในการใช้ย้อมผ้าในระหว่างเดือน มิถุนายน-กันยายน
ขั้นตอนการย้อมผ้า
เตรียมน้ำมะเกลือ เก็บผลมะเกลือที่แก่จัด ลงมาปลิดขั้วออก ในการย้อมแต่ละครั้งใช้มะเกลือประมาณ ๑
กิโลกรัม ย้อมเสื้อได้ประมาณ ๑๐-๑๕ ตัว นำไปตำในครก ตำข้าว
เมื่อมะเกลือแตกละเอียดจะได้เนื้อมะเกลือที่เป็นสีเหลืองนวล แล้วนำไปละลายกับน้ำ ประมาณ ๒
ลิตร
จะได้น้ำมะเกลือสีเหลืองนวลและเป็นฟองขึ้น
นำเสื้อหรือผ้าที่เตรียมไว้
ลงไปในน้ำมะเกลือ แล้วขยี้ให้ทั่ว
ทีละตัว ยกขึ้น นำไปตากบนพื้นดินเรียบ เพื่อให้ผ้าไหมอุ้มน้ำยางมะเกลือและค่อยๆ ไหลลงดิน ทำให้สีดำติดผ้าเร็วขึ้น และแห้ง พร้อมกันทั้งผืน ถ้าตากบนราว จะทำให้น้ำยางมะเกลือไหลจากบนลงล่างและเร็วกว่าบนดิน สีที่ติดไม่สม่ำเสมอ เมื่อผ้าแห้งพอหมาดๆ ยกขึ้นตากบนราวไม้ให้แห้งสนิทและนำลงไปย้อมในน้ำมะเกลือใหม่ ทำซ้ำๆ ประมาณ ๖-๗ ครั้ง ตามกรรมวิธีเดิม ใช้เวลาใช้เวลาประมาณ ๒ วัน จึงนำไปนึ่งครั้งหนึ่ง ในขั้นตอนในการย้อมครั้งสุดท้าย คือประมาณครั้งที่ ๑๕ จะนำพืชสมุนไพร จะนำพืชสมุนไพรชนิดต่างๆ ที่มีอยู่ตามธรรมชาติในท้องถิ่น ไปตำร่วมกับมะเกลือเพื่อให้ได้สีดำที่ติดทนนานเป็นเงางาม และมีกลิ่นหอม
ขั้นตอนการนึ่งผ้า
นำไม้กากบาท
ลงในปิ๊บ ใส่น้ำให้ท่วมก้นปิ๊บประมาณ ๒๐ เซนติเมตร ใช้ตะแกรงไม้ไผ่วางบนไม้กากบาทเพื่อรองผ้าที่จะนำ ไปนึ่ง รองพื้นด้วยใบขมิ้นหรือใบไพลอีกชั้นหนึ่ง เพื่อไม่ให้ผ้าติดกับปิ๊บ ซึ่งอาจทำให้ผ้าไหม้หรือกรอบได้ โรยด้วยสมุนไพรหอมและกากมะเกลือ นำผ้าชิ้นที่ ๑
วางลงไป โรย กากมะเกลือลงบนผ้า แล้วนำผ้าชิ้นที่ ๒-๘ วางลงไปด้วยกรรมวิธีเช่นเดิม เต็มปิ้บพอดี ดึงปลาย
ใบขมิ้นที่รองพื้นจากด้านข้างปิ้บที่เหลืออยู่ขึ้นมาปิดให้มิด ใช้ฝาหม้อดินปิดทับ เพื่อให้ควันระอุทั่วผ้าที่อยู่ในปิ๊บ นำขึ้นเตา ก่อไฟนึ่งจนกว่าจะมีควันขึ้นทั่วทั้งปิ๊ป ใช้เวลาประมาณ ๒ ชั่วโมงนำออกมาสลัดกากมะเกลือออกให้หมด นำไปตากแดด และทำการย้อมใหม่ ตามกระบวนการ
ขั้นตอนเดิม ทำเช่นนี้อยู่ประมาณ ๑๐-๑๕ ครั้ง โดยทำการย้อมอย่างน้อย ๕-๖ ครั้ง นึ่งครั้งหนึ่ง ผ้าถึงจะได้สีดำสนิท ติดทนนาน เป็นเงางาม เมื่อทำการย้อมครั้งสุดท้ายเสร็จเรียบร้อย
นำไปนึ่ง ใ ห้นำเดือดควันขึ้นทั่วปิ๊ป
แล้วนำออกไปซักด้วยผงซักฟอก ล้างด้วยน้ำสะอาด นำไปตากบนราวไม้ให้แห้ง
ขั้นการเทอแซว
การเทอแซว ป็นขั้นตอนการเย็บตะเข็บผ้าแต่ละด้านติดเข้ากันให้เป็นรูปทรงเสื้อโดยจะใช้ด้ายไหมหลากสี เช่น ขาว แดง
ส้ม เขียว น้ำเงิน ตรงส่วนที่เย็บตะเข็บนี้ คนพื้นเมืองที่พูดภาษาท้องถิ่นเป็นภาษาเขมรเรี่ยกว่า
"เทอเเซว (การเย็บหรือถักตะเข็บลายตีนตะขาบ)" ซึ่งไหมที่เย็บเป็นเส้นจะตัดสีของเสื้อดูสะดุดตาสวยงาม และที่คอเสื้อจะทำเป็นลวดลายตามจินตนาการของผู้ใช้ โดยใช้เข็มเย็บผ้าและเส้นไหมสีต่างๆ
เช่นสีขาว แดง ชมพู เหลือง มาถักเพื่อต่อตัว
ต่อแขน ติดกระเป๋า ให้เป็นตัวเสื้อที่สวมใส่ ด้วยลวดลายที่แตกต่างกัน ส่วนเส้นไหมที่ใช้ถักต่อ
ใช้เส้นไหม ๘ เส้น มาควบโดยวิธีง่ายๆ คือ
นั่งลงราบกับพื้น ยื่นขาซ้ายหรือขวาแล้วแต่ถนัดออกไปข้างหน้า นำเส้นไหม ๘ เส้น มาเกาะที่ปลายนิ้วโป้งที่ยื่นออกไป
ดึงปลายเส้นไหมทั้งสองข้างเข้าหาตัวเองจะได้เส้นไหม ๑๖ เส้น ยื่นขาอีกด้านหนึ่งออกไปวางเส้นไหมลงตรงที่ถนัด ใช้ฝ่ามือด้านขวาหรือซ้ายแล้วแต่ถนัด กดแล้วรูดไปมา มืออีกด้านหนึ่งดึงเส้นไหมให้ตึงสอดนิ้วเข้าระหว่างเส้นไหมทั้งสองด้าน จนเส้นไหมควบรวมเป็นสองเส้น
ค่อยๆลากนิ้วมือที่สอดระหว่างเส้นไหมทั้งสองด้านไปหานิ้วหัวแม่เท้าจะได้เส้นไหมที่มีขนาดใหญ่พอสมควร ถักต่อด้านข้างทั้งสองข้าง แขนทั้งสองข้างให้ติดเป็นตัวเสื้อด้วยลายตีนตะขาบ โดยด้านข้างของตัวเสื้อทั้งสองข้าง จะเหลือไว้ประมาณ ๑๕-๒๐ เซนติเมตร
ให้เป็นเหมือนตัวเสื้อที่ผ่าด้านล่างถักต่อติดกระเป๋าและชายตัวเสื้อด้านหน้าและด้านข้างด้ายลายขามดแดงปักลายชายเสื้อด้านข้างที่เหลือด้วยลายขามดแดงเดินเส้น ให้เป็นลวดลายด้วยสีที่ต้องการ ปักดอกพิกุล
ระหว่าง ลายขามดแดงเป็นลายปักเดินเส้นเพื่อความสวยงาม
ติดกระดุมที่ทำจากเงินพดด้วงภาษาในท้องถิ่น
(เขมร) เรียกว่า "ปรักดม " มีจำนวนตั้งแต่ ๕ ถึง ๑๒ เม็ด ซึ่งเม็ดเงินที่ติดบนเสื้อนี้จะบ่งบอกถึงฐานะความมั่งคั่งของคนสวมใส่ ขนาดของเม็ดเงินก็จะแตกต่างกันออกไป และเสื้อดังกล่าวจะมีน้ำหนักมากจากความหนาของเนื้อผ้าแล้วบวกกับน้ำหนักของจำนวนเม็ดเงินที่ติด คนพื้นเมืองที่พูดภาษาเขมรโบราณจึงมีความเชื่อว่า" ยิ่งร่ำรวยมั่งมีมากเท่าใดภาระหน้าที่ความรับผิดชอบยิ่งมีมากเท่านั้น" เมื่อใส่เสื้อนี้แล้วจะเป็นการเตือนสติทุกครั้ง เพราะความหนักของเสื้อ ส่วนผู้มีฐานะยากจนก็ร้อยเชือกผูกเอา
จะได้เสื้อหรือผ้าไหมลายลูกแก้วย้อมมะเกลือ
ซึ่งเป็นผ้าโบราณที่เกิดจากภูมิปัญญาดั้งเดิม
สืบทอดจากบรรพบุรุษ ที่เรียกว่า "เสื้อโบราณ” หรือ "อาวเก๊บ” ในสมัยก่อน เสื้อหรือจะเป็นสีดำสนิท
ปัจจุบันเพื่อให้เป็นไปตามสมัยนิยมจึงได้พัฒนาด้วยการถักทอลวดลายใส่สีต่างๆ ให้มีความวิจิตรบรรจง
สะดุดตา มากยิ่งขึ้น ดังที่เห็น นำไปอบด้วยปะการันเจก
(ดอกลำเจียก เป็นดอกไม้ที่หอมมาก ชาวไทยเชื้อสายเขมรจะเอาเกสรมาทาหน้า คล้ายกับแป้งฝุ่น) เพื่อให้ได้กลิ่นหอม
สร้างรายได้ให้กับตนเอง/ชุมชนอย่างไรบ้าง
ผลิตภัณฑ์ผ้าเหยียบย้อมมะเกลือ
(ลายลูกแก้ว) เป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนเป็นอย่างมาก สามารถยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของคนในชุมชนให้ดีขึ้น เนื่องจากมีการรวมกลุ่มในการผลิต มีการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น
ให้กลายเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ มีจุดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของตนเองที่
สอดคล้องกับวัฒนธรรมในพื้นที่ โดยราคาจำหน่ายของแต่ละตัวขึ้นอยู่กับการทอผ้าและการแซวผ้า ราคาจำหน่ายบางตัวสูงถึง ๕,๐๐๐ บาท ปัจจุบันผ้าเหยียบย้อมมะเกลือ
มีการพัฒนาการผลิตขึ้นเพื่อเข้าสู่ตลาดในระดับประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาการย้อม รูปแบบเสื้อ
การแซวผ้าให้มีลวดลายสวยงามมากยิ่งขึ้น
ประกอบกับได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ผ้าเหยียบย้อมมะเหลือ (ลายลูกแก้ว) จึงเป็นที่นิยมในการสวมใส่ ทั้งชาวไทยเชื้อสายเขมร ชาวจังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดใกล้เคียงเป็นอย่างมาก |