กำแพงเมืองสงขลา
ปัจจุบันกำแพงเมืองสงขลาเหลืออยู่ส่วนที่เป็นทิศเหนือ บริเวณถนนจะนะและทิศตะวันตก กำแพงเมืองสงขลา เริ่มสร้างใน พ.ศ.๒๓๗๙ ภายหลังพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง) เจ้าเมืองสงขลาในขณะนั้น ย้ายที่ตั้งเมืองสงขลาเดิมมาอยู่ที่ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลาในปัจจุบัน ในการย้ายเมืองสงขลาดังกล่าว จึงได้สร้างกำแพงเมืองสงขลาขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๗๙ และสร้างเสร็จใน พ.ศ. ๒๓๘๕ โดยกำแพงเมืองอยู่ไกลจากน้ำประมาณ ๔๐ เมตร กำแพงด้านตะวันออกถึงทิศตะวันตกยาวประมาณ ๑,๒๐๐ เมตร ด้านทิศเหนือถึงทิศใต้ยาวประมาณ ๑,๐๐๐ เมตร มีป้อม ๘ ป้อม อยู่มุมเมือง ๔ ป้อม ระหว่างกำแพงด้านทิศตะวันออกถึงทิศตะวันตก มีป้อมอีกด้านละ ๒ ป้อม ตัวป้อมมีความกว้างและความยาวประมาณ ๑๐ เมตร มีประตูเมืองเป็นซุ้มใหญ่โดยรอบ ๑๐ประตูเมืองกว้างประมาณ ๓ เมตร สูงประมาณ ๖ เมตร ซุ้มเป็นหลังคาจีนและมีประตูช่องกุดอีก ๑ ประตู เป็นประตูช่องกุดกว้างประมาณ ๒ เมตรสูง ๒.๕๐ เมตร
กำแพงเมืองสงขลาด้านทิศเหนือที่เหลือ มีลักษณะเป็นกำแพงเมืองก่อด้วยหินสอปูน มีร่องรอยการต่อเดิมและซ่อมแซมหลายครั้ง บริเวณช่องกุดจะมีกรอบประตูก่อด้วยอิฐสอปูน ในปัจจุบันมีการก่ออิฐปิดทับช่องประตูไปแล้ว จากการขุดค้นทางโบราณคดี พบว่ากำแพงเมืองสงขลามีลักษณะเป็นกำแพงก่อหินสอปูนมีความสูงประมาณ ๕.๕ เมตร ความหนาประมาณ ๔ เมตร กำแพงมีขอบด้านในและด้านนอกและมีเอ็นกำแพงเชื่อมระหว่างขอบกำแพงทั้งสอง ช่องว่างภายในกำแพงเมืองถมด้วยทรายส่วนด้านบนของกำแพงประดับด้วยใบเสมาสี่เหลี่ยม

การกำหนดอายุสมัย พุทธศตวรรษที่ ๒๔
การประกาศขึ้นทะเบียน กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานกำแพงเมืองสงขลา ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๕๒ ตอนที่ ๗๕ วันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘ หน้า ๓๗๑๓
ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานกำแพงเมืองสงขลา ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๙๓ ตอนที่ ๑๑๒ วันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๑๙ หน้า ๒๕๖๗ พื้นที่โบราณสถานประมาณ ๒ ไร่ ๑๗ ตารางวา